ความเปลี่ยนแปลงของพระพุทธศาสนา
จากอดีตสู่ปัจจุบัน
        เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าศาสนาเอกในโลกที่มีผู้คนนับถือมากที่สุดมีอยู่ ๓ ศาสนาด้วยกันคือ ศาสนาคริสต์ อิสลาม และศาสนาพุทธ ซึ่งมีผู้นับถือมากน้อยรองลงมาตามลำดับ ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาของเราจะมีผู้นับถือรองลงมาจากศาสนาอื่น ๆ ก็ตามแต่ศาสนาพุทธก็ยังเป็นที่ยอมรับของคนโดยทั่วไป

        แม้แต่นักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอย่างโรเบริต์ ไอน์สไตน์ เป็นต้น ยังยอมรับในพระพุทธศาสนาว่ามีคำสอนตรงกับหลักความจริงมากที่สุด และได้กล่าวถึงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าของเราว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อมุมมองของนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ท่านด้วยกัน เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่ได้มีข้อย่อยไปจากศาสนาอื่นที่มีอยู่ในโลกซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องการสอนให้ทุกคนเป็นคนดี

        แต่ที่จะกล่าวต่อไปนี้คือ “พระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบัน” ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า ผู้คนเริ่มหนีห่างออกจากพระพุทธศาสนา ซึ่งแตกต่างจากคนในสมัยก่อนที่มองอาณาจักรศาสนาเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ผู้คนในสมัยก่อนจะมองวัดเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจ และความคิด ไม่ว่าเรื่องใดก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นในสังคม พระจะเป็นผู้นำทางด้านความคิดและจิตวิญญาณชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมนั้น ๆ ผู้คนในสมัยก่อนจึงมองพระว่าเป็นเหมือนประหนึ่ง ผู้นำทางสังคม ฉะนั้น ผู้คนในสมัยอดีตกับปัจจุบันจึงมองพระพุทธศาสนาต่างกัน และถึงแม้ว่าผู้คนในสมัยปัจจุบันจะให้ความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาไม่เหมือนกับผู้คนในสมัยก่อนก็ตาม พระพุทธศาสนาก็ยังคงความเป็นสิ่งที่สำคัญต่อพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสศรัทธาอยู่ไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน ยังคงความเป็นศาสนาที่มีผู้คนนับถืออยู่ทั่วโลก และเป็นที่พึ่งทางใจสำหรับทุกคนที่ยอมรับในพระพุทธศาสนาและคำสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตราบใดที่พระพุทธศาสนายังตั้งมั่นอยู่ไม่ครบ ๕,๐๐๐ ปีตามพุทธพยากรณ์ ตราบนั้นพระพุทธศาสนาก็จะยังคงมีผู้คนนับถือและให้ความสำคัญอยู่เรื่อยไป บางทีอาจมีผู้กล่าวว่าพระพุทธศาสนาเสื่อม แต่ความจริงแล้วพระพุทธศาสนาไม่ได้เสื่อมหายไปไหน ที่เสื่อมจริง ๆ คือจิตใจของผู้คน เพราะในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่โลกมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุมาก จนทำให้ผู้คนยึดติดกับวัตถุมากกว่าการที่จะมาปรับสภาพทางจิตใจให้เจริญไปพร้อมกับโลก.

อริสมันต์ (มหาแทน).
นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ศูนย์วัดศรีสุดาราม)
คณะมนุษยศาสตร์ปีที่ ๔ เอก ภาษาไทย

note1.gif (506 bytes) กลับไปหน้าแรก | พุทธประวัติ | พุทธศาสนสุภาษิต | ลานเสวนาธรรม

พระพุทธศาสนาในอดีตแนวคิดของข้าพเจ้า

        อาณาจักรพุทธศาสนาในสมัยอดีตต้องยอมรับว่าเป็นที่ยอมรับของคนโดยทั่วไปในสังคมของเราชาวพุทธ คนในสมัยอดีตต่างยกย่องให้วัดเป็นศูนย์รวมทางจิตใจในหลาย ๆ ด้าน บ้านกับวัดจึงผูกเกลียวแน่นสัมพันธ์ลึกซึ้งกันดีเรื่อยมา เมื่อวัดมีงานชาวบ้านก็มาช่วย เมื่อทางหมู่บ้านมีงานก็มานิมนต์พระไปช่วย ต่างก็ช่วยพึ่งพาอาศัยกันเห็นความสำคัญของกันและกันตลอดมา จนกระทั่งผู้คนเริ่มให้ความสำคัญแก่วัดน้อยลง วัดจึงไม่ค่อยมีบทบาทในการช่วยสร้างสรรค์พัฒนาสังคมมากนัก และถ้าเกิดวัดเข้าไปมีส่วนร่วมมากเกินไปก็กล่าวหาว่าพระเข้ามาวุ่นวาย ฉะนั้น ถ้ามองโดยรวมแล้ว คนในสมัยนี้จึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของพระมากนัก จะเห็นความสำคัญก็ต่อเมื่อมีงานแล้วมานิมนต์พระให้ไปช่วย จะนึกถึงพระก็ต่อเมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นให้ท่านช่วย ทุกวันนี้ที่เห็นว่าวัดพอจะเป็นศูนย์รวมของชุมชนได้ก็มีอยู่ตามบ้านนอกสังคมแถบชานเมืองเราเท่านั้น

        อาณาจักรศาสนาของเราเคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงซึ่งทรงเป็นผู้รับเอาพระพุทธศาสนาจากลังกา แบบเถรวาท ซึ่งเรียกกันว่า "ลัทธิลังกาวงศ์" เข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติ ให้คนไทยเราได้นับถือเพื่อเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจ และก็ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เข้าบวชในบวรพระพุทธศาสนาถวายพระองค์เองเป็นพุทธมามกะ และเป็นแนวทางให้พระมหากษัตริย์ทุก ๆ พระองค์ในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันถือเป็นหลักปฏิบัติสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

        เพราะฉะนั้น จึงถือได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่เราชาวพุทธทุกคนควรเอาใจใส่ดูแลทำนุบำรุงรักษาไว้เพื่อเป็นมรดกสืบต่อไปจนชั่วลูกชั่วหลาน เพราะถือได้ว่าพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งรวมศิลปะ วัฒนธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของเรา ถึงเวลาแล้วที่พุทธศาสนิกชน ทุกคนควรหันกลับมาดูสิ่งอันมีค่าประจำชาติของเรา พระพุทธศาสนาเป็นทั้งเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นทั้งเครื่องช่วยพัฒนาจิตใจยกระดับของมนุษย์เราให้สูงขึ้น อย่าปล่อยให้อาณาจักรพระพุทธศาสนาต้องเสื่อมสูญเพราะพวกเราไม่เห็นความสำคัญอีกเลย ช่วยกันหันมามองสักนิดแล้วท่านจะเห็นความจริงที่ปรากฏอยู่ในสังคม …

อริสมันต์ (มหาแทน).
นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ศูนย์วัดศรีสุดาราม)
คณะมนุษยศาสตร์ปีที่ ๔ เอก ภาษาไทย

note1.gif (506 bytes) กลับไปหน้าแรก | พุทธประวัติ | พุทธศาสนสุภาษิต | ลานเสวนาธรรม